Publication

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง


Update : 17 Feb 2011

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคผิว หนังอักเสบเรื้อรังเป็นๆหายๆมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Atopic dermatitis สำหรับชื่อภาษาไทยมีหลายชื่อ เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง...

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็นๆหายๆมีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Atopic dermatitis สำหรับชื่อภาษาไทยมีหลายชื่อ เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบไวเกิน โรคผิวไว เป็นต้น โรคนี้พบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน ผู้ป่วยมักมีประวัติแพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืดหรือเยื่อบุตาอักเสบ โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลงคนในครอบครัวของผู้ป่วยมักมีประวัติ โรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวเลยก็เป็นโรคนี้ได้ ทั้งนี้เพราะความผิดปกติทางพันธุกรรมซ่อนเร้นอยู่ในยีนในครอบครัวผู้ป่วยได้ โดยไม่เกิดอาการ นอกจากพันธุกรรมแล้วปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ สิ่งแวดล้อมเช่น อาหาร ไรฝุ่น สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ผิวหนังของผู้ป่วยจะไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป แห้ง ชื้น สารเคมีที่ระคายผิวหนังและสิ่งมีีชีวิตต่างๆ เช่น แมลง เชื้อโรค เป็นต้น

อาการแสดงของโรค

ผิวหนังโดยทั่วไปของผู้ป่วยจะค่อนข้างแห้ง อาการและอาการแสดงของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

   1. วัยทารก พบระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็กๆอยู่ในผื่นแดงนั้น ที่แก้มถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองเยิ่มหรือตกสะเก็ด อาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกคืบ ถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน  ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นๆของร่างกาย เช่น    ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้
   2. วัยเด็ก อายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นๆได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดงแห้งๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก มีอาการคัน ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยถลอกหรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในรอยโรคได้
   3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมากๆผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

   
ปัจจัยที่ทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบกำเริบ


   1. สภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น สภาวะที่มีละอองเกสร แมลง ขนสัตว์ ไรฝุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
   2. เชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เขื้อรา อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื่อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะกำเริบมากขึ้น กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
   3. ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการมากขึ้นในฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศที่แห้งและเย็นจะทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและอักเสบมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน  เพราะอากาศที่ร้อนทำให้เหงื่อออกมากทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันและเกิดผื่นผิว หนังอักเสบมากขึ้นได้เช่นเดียวกับฤดูหนาว
   4. เสื้อผ้า ไม่ควรใช้เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์เพราะจะทำให้เกิดการค้นเพิ่มมากขึ้น
   5. สบู่ ผงซักฟอก ที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะละลายไขมัน ทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบเป็นมากขึ้นได้
   6. อาหาร ผู้ป่วยโรคนี้ประมาณร้อยละ 10 พบว่าอาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้


หลักการดูแลและรักษา


1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น
 - หลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง
 - สบู่ควรใช้สบู่อ่อนๆ ไม่ควรใช้สบู่บ่อยเกินไป
 - ผงซักฟอกเลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อยควรซักล้างออกให้หมด
 - เสื้อผ้าเลือกใช้เสื้อผ้านุ่มโปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์
 - หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมากๆ
 - ลดความเครียด ความวิตกกังวล
2. แนะนำไม่ให้ผู้ป่วยเกา เนื่องจากการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบเห่อมากขึ้น อาจรับประทานยาต้านฮีสตามีนเพื่อช่วยลดอาการคัน
3. ป้องกันและรักษาผิวแห้งโดยการทามอยซ์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น ควรทาหลังอาบน้ำทันที ถ้าผิวหนังยังแห้งมากควรทาเพิ่ม สามารถทาได้วันละหลายครั้ง
4. ยาทากลุ่มสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง ปัจจุบันมียาทากลุ่มใหม่ ได้แก่ tacrolimus และ pimecrolimus ซึ่งควบคุมอาการของโรคได้ดีพอควรแต่มีราคาแพง การใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์
5. กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์เพราะผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย
6. การรักษาอื่นๆเช่น การฉายแสงอาทิตย์เทียม การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมากและเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถรักษาได้ผลด้วยวิธีต่างๆข้างต้นได้แล้ว ควรปรึกษาแพทย์

การดำเนินโรค

โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง อาการของโรคมักเป็นๆหายๆผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร้อยละ 60 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 1 ปี ประมาณร้อยละ 85 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 5 ปี อาการมักจะดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย อาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่อาจจะ ยังคงมีอาการจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ปกครองและผู้ป่วยจึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา


แต่งโดย : ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย

Louis vuitton fake kaufen Louis vuitton imitacion Bolsos Louis vuitton imitazioni Louis vuitton tassen Replica
Cheap NFL Jerseys sac Louis Vuitton pas cher chine Hermes Replica Handbags